Posted on

อุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการสร้างหุ่นยนต์ 1

พลาสติกแผ่น(อะคีริก)

พลาสติกแผ่นเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการสร้างตัวหุ่นยนต์ที่สามารถหาได้ง่าย ด้วยความหนา3มิลลิเมตรเป็นความหนาที่พอดีคือไม่บางหรือหนาเกินไป และสามารถตัดได้ไม่ยากด้วยเลื่อยฉลุ พลาสติกแผ่นนี้สามารถหาซื้อได้ที่ร้านเครื่องเขียน(ศึกษาภัณฑ์พานิช)หรือร้านทำป้ายพลาสติกซึ่งสามารถที่จะขอแบ่งซื้อเป็นส่วนๆตามต้องการได้แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีขายเป็นขนาดมาตรฐานคือ1ฟุตx1ฟุต ความหนาของแผ่นพลาสติกแนะนำให้ใช้ที่ขนาด3มิลลิเมตรซึ่งเป็นความหนาที่กำลังดี อย่างไรก็ตามหากต้องการความแข็งแรงให้กับตัวหุ่นมากขึ้นสามารถเลือกใช้ความหนาที่เพิ่มมากขึ้นได้ตามต้องการ

เลื่อยฉลุ โครงเลื่อย ใบเลื่อย
เลื่อยฉลุเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดสำหรับการสร้างหุ่นยนต์ด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่สำหรับตัดพลาสติกแผ่นให้เป็นรูปร่างตามแบบที่ต้องการโดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรราคาแพงเพียงแต่ผู้ใช้อาศัยทักษะเพียงเล็กน้อยในการเลื่อยก็ได้ชิ้นงานตามต้องการแล้วแต่ถ้าผู้ใช้ยังไม่เคยใช้เลื่อยฉลุมาก่อนก็อาจต้องทำความคุ้นเคยก่อนซึ่งก็ใช้เวลาไม่นานนัก เลื่อยฉลุมีส่วนประกอบหลักๆอยู่สองส่วนคือ

1 โครงเลื่อยฉลุ โครงเลื่อยฉลุจะมีลักษณะคันเหล็กโค้งเป็นรูปตัวยูโดยปลายด้านหนึ่งจะมีด้ามจับซึ่งตั้งฉากกับโครงเหล็กรูปตัวยู ที่ปลายโครงเลื่อยทั้งสองด้านจะมีน๊อตสำหรับขันยึดใบเลื่อยดังรูปที่2 โครงเลื่อยฉลุเมื่อซื้อมามักจะมีใบเลื่อยแถมมาให้ด้วยแต่ถ้าเป็นแบบราคาถูกก็จะไม่มีใบเลื่อยแถมมาให้ โครงเลื่อยมีทั้งราคาถูกและราคาแพงซึ่งผู้ใช้สามารถสามารถเลือกใช้ได้ตามกำลังทรัพย์โดยอาจมีราคาตั้งแต่30บาทจนถึงหลายร้อยบาทแต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้ทดลองใช้งานแบบราคาถูกก็สามารถใช้งานได้ดีพอสมควร

2 ใบเลื่อยฉลุ เป็นหัวใจสำคัญเพราะชิ้นงานที่ได้จากการตัดด้วยเลื่อยฉลุจะเรียบตรงดีหรือไม่จะขึ้นอยู่กับใบเลื่อยที่ใช้ด้วยส่วนหนึ่ง ใบเลื่อยฉลุที่ขายส่วนใหญ่ที่มีขายตามร้านขายเครื่องเขียนหรือร้านขายฮาร์ดแวร์ต่างๆจะขายเป็นโหลคือใบเลื่อยจำนวน12ใบจะถูกมัดไว้ด้วยลวดขนาดเล็ก ใบเลื่อยชนิดนี้จากการทดลองใช้พบว่าใช้ได้ไม่ดีคือใบเลื่อยจะบางและขาดง่ายและฟันที่ใบเลื่อยจะไม่ค่อยสมบูรณ์ ดังนั้นจึงหันมาใช้ใบเลื่อยอย่างดีซึ่งใบเลื่อยจะมีความหนาพอสมควรทำให้ไม่ขาดง่าย ฟันเลื่อยจะสมบูรณ์ไม่แหว่งหายไปเป็นช่วงๆ ใบเลื่อยฉลุแบบอย่างดีนั้นจะขายเป็นใบราคาใบประมาณ10ถึง20บาทขึ้นอยู่กับแต่ละร้าน มีขายแถวๆคลองถมหรือที่โฮมโปรก็มีขายโดยมีใบเลื่อยอย่างดีแถมมาพร้อมกันเมื่อเราซื้อโครงเลื่อย แต่ถ้าไม่สามารถหาซื้อใบเลื่อยชนิดอย่างดีได้การใช้ใบเลื่อยโหลก็ใช่ว่าจะเลื่อยตัดพลาสติกไม่ได้ แต่ผลงานที่ได้อาจจะต้องใช้ตะไบตกแต่งรอยตัดที่ได้อีกสักเล็กน้อยเนื่องจากรอยตัดที่ได้จะไม่ค่อยเรียบเท่าใดนัก

สว่าน และดอกสว่าน

สว่านที่ใช้สามารถใช้ได้ทั้งสว่านแท่นและสว่านมือ การใช้งานสว่านไม่ยาก หลักการมีเพียงเลือกขนาดของดอกสว่านให้ตรงหรือใกล้เคียงกับรูที่ต้องการ แล้วขันเข้ากับหัวสว่านให้แน่น การเจาะนั้น แนะนำให้ค่อยๆกดดอกสว่านลงไปในเนื้อพลาสติก การกดลงเร็วเกินไปอาจจะทำให้พลาสติกแตกได้ ดอกสว่านที่ใช้ในโครงงานนี้ส่วนใหญ่จะเป็นขนาด 3 มิลลิเมตรหรือ1/8นิ้วสำหรับใส่น๊อต และ 6 มิลลิเมตรสำหรับขยายรู ดอกสว่านที่ขายกันทั่วไปสามารถซื้อแยกเฉพาะขนาดที่เราใช้ก็ได้หรืออาจจะซื้อเป็นชุดก็มีขาย ดอกสว่านนั้นยังแยกตามการใช้งานได้อีกสองประเภทใหญ่ๆคือแบบสำหรับเจาะไม้จะมีสีดำ และแบบเจาะเหล็กจะมีสีขาวเงินทำจากสเตนเลส ราคาอย่างหลังจะแพงกว่าแบบแรก สำหรับการเจาะพลาสติกอย่างเดียวนั้นใช้ดอกสว่านสีดำก็เพียงพอแล้ว

ตะไบชุดหรือตะไบช่างทอง

ตะไบชุดคือตะไบขนาดเล็กที่มีลักษณะต่างๆกันรวมกันเป็นชุด ซึ่งสามารถเลือกใช้เพื่อขัดตกแต่งชิ้นงานหลังจากที่ตัดด้วยเลื่อยฉลุ โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อขัดลบคมขอบชิ้นงานด้วยตะไบสี่เหลี่ยม ถ้าเป็นรูเจาะสามารถใช้ตะไบกลมเพื่อลบคมได้

กาว

กาวที่ใช้ในการติดและประกอบพลาสติคสำหรับสร้างหุ่นยนต์ในหนังสือเล่มนี้สามารถใช้ได้ทั้งที่เป็นตัวเชื่อมพลาสติกโดยเฉพาะแสดงดังรูปที่10หรือให้กาวชนิดแห้งเร็วดังรูปที่11 ส่วนตัวหุ่นยนต์ต้นแบบที่แสดงในหนังสือใช้กาวชนิดแห้งเร็วในการประกอบเนื่องจากมีความแข็งแรงมากกว่าและแห้งเร็วกว่าแต่ราคาก็แพงกว่าน้ำยาสำหรับเชื่อมอะคีริก กาวอีกอย่างที่ต้องใช้ก็คือกาวสำหรับติดแบบชิ้นส่วนหุ่นยนต์ขนาดเท่าของจริงที่เป็นกระดาษลงบนแผ่นพลาสติกที่ยังไม่ได้ลอกกระดาษออก

 

นอต ไขควงแฉก ไขควงแบน

นอตที่ใช้สำหรับทำหุ่นยนต์ในหนังสือเล่มนี้โดยส่วนใหญ่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง3มิลลิเมตรหรือเรียกว่านอตM3 โดยจะใช้ที่ขนาดความยาวต่างๆกันตามความเหมาะสม หัวนอตเป็นหัวแฉกสามารถใช้ไขควงแฉกขันได้ส่วนนอตตัวเมียที่ใช้ในการสร้างหุ่นยนต์มีอยู่สองแบบคือแบบธรรมดา และแบบไนล่อนล็อค โดยมีการใช้งานที่แตกต่างกัน นอตตัวเมียแบบธรรมดาใช้เพื่อขันยึดชิ้นงานสองชิ้นให้ติดกัน ชิ้นงานสองชิ้นนี้จะไม่สามารถขยับไปไหนได้ ส่วนนอตตัวเมียแบบไนล่อนล็อค มันถูกออกแบบให้มีพลาสติกติดอยู่กับตัวนอตเพื่อให้การขันเข้าและขันออกทำได้ไม่ง่ายนักมันเหมาะสำหรับงานที่มีความสั่นสะเทือนอยู่ตลอดเวลาซึ่งถ้าขันด้วยนอตธรรมดามันอาจคลายตัวเลื่อนหลุดออกมาได้แต่สำหรับหรับนอตแบบไนล่อนล๊อคเมื่อขันเข้ากับนอตตัวผู้แล้วมันจะไม่คลายตัวเลื่อนหลุดเองนอกจากการใช้คีมจับนอตตัวเมียไว้แล้วใช้ไขควงขันดังรูปที่14จึงจะสามารถขันเข้าหรือขันออกได้  ล็อกนอต, ไนล่อนนอต,ไนล่อนล็อค หรือนอตบังคับเกลียวเป็นชื่อที่ใช้เรียกนอตชนิดนี้ดังรูปที่12  นอตประเภทนี้จะมีส่วนที่ทำด้วยพลาสติก เมื่อมีการใช้กับนอตตัวผู้จะทำให้แน่นขึ้นสามารถยึดตัวนอตได้ในตำแหน่งที่ต้องการการทำงานคล้ายกับดับเบิลนอตในรูปที่13 แต่ใช้งานง่ายกว่า ราคาจะแพงขึ้นเล็กน้อย